“ดื่มอย่างรับผิดชอบ” หนทางสู่การลดปัญหาจากแอลกอฮอล์อย่างยั่งยืน

“ดื่มอย่างรับผิดชอบ” หนทางสู่การลดปัญหาจากแอลกอฮอล์อย่างยั่งยืน,ดื่มอย่างรับผิดชอบ,หนทางสู่การลดปัญหาจากแอลกอฮอล์อย่างยั่งยืน

      ปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นปัญหาสำคัญในระดับนานาชาติที่สร้างความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สิน องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) จึงออกแผนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตราย หรือ Harmful Use of Alcohol ในปี พ.ศ. 2553 ตั้งเป้าลดอัตราการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตรายทั่วโลกลงให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2568

การลดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตรายเป็นนโยบายที่ตรงกับความตั้งใจของสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ Thai Alcoholic Beverage Business Association: TABBA ที่เป็นศูนย์กลางของผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย  เพราะพันธกิจหลักของเราคือการส่งเสริมการทำการตลาดและสื่อสารเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจแอลกอฮอล์อย่างมีจรรยาบรรณ และรับผิดชอบต่อสังคม เราต้องการร่วมมือกับภาครัฐและประชาชนให้มีการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและตอบโจทย์ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตรายอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน แต่อาจมีคำถามว่าการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตรายนั้นคืออะไร คำตอบที่เข้าใจอย่างง่ายคือการดื่มที่ไม่รับผิดชอบโดยอาจสร้างความเสียหายหรือเป็นปัญหาต่อตนเองหรือผู้อื่น เช่น เมาแล้วขับ ดื่มก่อนวัยอันควร ดื่มในขณะตั้งครรภ์ ดื่มจนเมาครองสติไม่ได้หรือการดื่มเกินขนาด เหล่านี้ เป็นต้น



เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรมในหลากหลายมิติ และเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงต้องพิจารณาทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจและรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ นโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและข้อเท็จจริง ให้ความสำคัญกับการแก้ไขกลุ่มที่เป็นปัญหาหรือบริโภคอย่างเป็นอันตราย โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ ในการบังคับใช้กฎหมายควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการดื่มอย่างรับผิดชอบและสร้างจิตสำนึกเคารพกฎหมายอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด และจะสามารถแก้ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างขาดความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน 


หัวใจสำคัญจึงอยู่ตรงคำว่า “เหมาะสม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งองค์การอนามัยโลกและ TABBA พยายามเน้นย้ำมาโดยตลอด เพราะปัญหาที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ล้วนมาจากพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายและไม่มีความรับผิดชอบ รวมทั้งปัญหาในการควบคุมการขายแอลกอฮอล์ให้บุคคลที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ คือ 20 ปี นำไปสู่ปัญหาทางสังคมต่าง ๆ หนึ่งในปัญหาที่เกิดจากแอลกอฮอล์ที่ผู้คนส่วนใหญ่นึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ



ว่ากันตามความจริง การเมาแล้วขับไม่ใช่สาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามที่ปรากฏในรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2560 โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร พบว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วประเทศ มีสาเหตุหลักจากการขาดวินัยจราจร ในขณะที่การเมาสุราเป็นสาเหตุลำดับที่ 11 สะท้อนให้เห็นว่าแอลกอฮอล์ไม่ใช่ปัญหาหลักทางสังคม ยังมีอีกหนึ่งความเสี่ยงบนท้องถนนที่หลายคนอาจมองข้าม นั่นคือการหลับใน จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมปี พ.ศ. 2560 พบว่า การหลับในเป็นสาเหตุอันดับ 3 ในการเกิดอุบัติเหตุ คิดเป็นร้อยละ 6.04 ในขณะที่การเมาแล้วขับอยู่ในอันดับที่ 5 คิดเป็นร้อยละ 2.55



ดังนั้นการใช้พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอทั้งต่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในภาพรวม และการลดการดื่มอย่างเป็นอันตราย แต่จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย การแก้ปัญหาจึงต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมครบทุกด้าน และที่สำคัญคือต้องมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ เช่น กฎหมายด้านการจราจร กฎหมายห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์กับเยาวชนอายุต่ำกว่าเกณฑ์ รวมทั้งการตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดให้ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์สำหรับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ควบคู่ไปกับการส่งเสริมผู้บริโภคให้ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งตรงนี้ไม่เพียงแต่เป็นหน้าที่ของภาครัฐหรือทางสมาคมเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการก็สามารถมีส่วนในการเสริมสร้างจริยธรรม และผลักดันให้เกิดสังคมแห่งความรับผิดชอบได้ เช่น โครงการ DRINKiQ เว็บไซต์ e-learning ให้ความรู้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นโครงการของบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ หนึ่งในสมาชิก TABBA หรือโครงการ SMASHED ที่สอนเรื่องภัยของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนวัยอันควร โดยมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ 


ย้อนกลับไปช่วง ค.ศ. 1920-1933 สหรัฐอเมริกาเคยมีกฎหมายห้ามผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกิดธุรกิจนอกกฎหมายและอาชญากรรมมากมาย เหตุการณ์นี้อาจถือเป็นกรณีตัวอย่างที่บอกกับเราว่า การห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์อาจไม่ใช่ทางออก และยังส่งผลเสียที่คาดไม่ถึง ทั้งในแง่สังคมและเศรษฐกิจ แต่การใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และสร้างความเข้าใจเรื่องการดื่มอย่างรับผิดชอบต่างหากที่จะตอบโจทย์ ทั้งการลดอุบัติเหตุและการลดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตรายได้อย่างยั่งยืน